วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

นักวิเคราะห์สมคบคิด

ช่วงนี้ไม่ค่อยได้อัพเดท Facebook หรือ Blog เลยครับ ไม่ว่างจริงๆฮะ ต้องตั้งใจดู แมนฯยูฯ อิอิ
ไม่ใช่แหละ จริงๆ ก็แอบทำ project เล็กๆน้อยๆ (อีกแหละ)

อ่านหนังสือพิมพ์น้อยลงเหมือนกันครับช่วงนี้ ก็พยายามแหละ แต่มันไม่ได้จริงๆ ก็เลยอาศัยฟังให้มากขึ้น แล้วก็ไปเจอบทความอันนึงที่เขียนถึง นักวิเคราะห์ โบรกต่างชาติแห่งหนึ่ง บอกไม่ได้นะว่า ใคร อิอิ
มาจาก หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น ฉบับวันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม 2554 ครับ เขียนโดยคุณ วิษณะ โชลิตกุล
ชื่อบทความ "พลวัต ปี 2011"

นักวิเคราะห์สมคบคิด !!!!
นักวิเคราะห์หุ้นมีบุคลิกภาพแตกต่างกัน แม้ว่าสำนักคิดจะค่อนข้างคล้ายคลึงกัน โดยทั่วไปแล้ว มีคนแบ่งความถนัดของนักวิเคราะห์หุ้นหรือตลาดเก็งกำไรออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. พวกมองโลกในแง่ร้าย ถนัดแนะให้ขาย เห็นอะไรก็สงสัยในทางร้ายไว้ก่อน ข้อดีของคนเหล่านี้คือ ทำให้คนไม่เชื่อผู้บริหารหรือไม่หลงใหลไปกับการวิ่งของราคาหุ้นที่ผิดปกติ ทั้งหลาย แต่ข้อเสียคือ ชวนให้โลกเศร้าหมองมากกว่าปกติ
2. พวกถนัดแนะซื้อ เห็นอะไรก็ดีไปหมด มองโลกสดใสเสมอ ขนาดหุ้นเข้าเขตซื้อมากเกินไป ยังแนะนำให้ซื้ออีกก็ยังมี บอกว่ามีสตอรี่รออยู่เพียบ
3. นักวิเคราะห์โหนกระแส ไม้หลักปักเลน แต่ชอบอ้างว่าเป็นนักวิเคราะห์อิสระ แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง บางคนก็มีนิสัยประเภทขวางโลก  

นักวิเคราะห์ที่ไม่เข้าข่ายสามประเภทข้างต้น เป็นกลุ่มคนที่ชวนให้ตั้งคำถามเสมอ 
นักวิเคราะห์หุ้นคนหนึ่ง เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แนะนำให้ซื้อหุ้นตัวหนึ่งซึ่งมีราคาแพง บอกว่าราคาที่เป็นอยู่นั้น ยังต่ำเกินพื้นฐาน เพราะว่า จะเข้าไปซื้อกิจการต่างๆ อีกเพียบเพราะมีเงินสดในมือมากเหลือเกิน แต่พอมาถึงกลางปีคล้อยไปนิดเดียว กลับแนะนำว่า ต้องขายหุ้นตัวนี้ทิ้งไปเสีย เพราะที่ไปซื้อกิจการมานั้น ไม่เอาไหนเลย อนาคตไม่สดใสเอาเสียเลย แถมยังบอกว่า ราคาที่เป็นอยู่ที่ลงมาระเนระนาดยังแพงเกินไป ต้องมีถูกกว่านี้อีก 
ความไม่แน่นอนของการวิเคราะห์เช่นนี้ ถามว่า มันเป็นเพราะคุณภาพเลวของนักวิเคราะห์เองที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือเพราะเจตนาแฝงเร้นของนักวิเคราะห์ในแต่ละช่วงเวลา


คำตอบอาจจะเป็นทั้งสองอย่าง หรือไม่เป็นทั้งสองอย่าง สิ่งที่ต้องพิจารณามากไปกว่าเรื่องของนักวิเคราะห์คนนั้นก็คือ ทำไมมีคนบางคนเชื่อคำพูดของคนเช่นนี้


คำตอบอยู่ที่เป้าหมายของผู้รับข้อมูลข่าวสารว่ามีคุณภาพแค่ไหนเป็นสำคัญ


นั่นทำให้ปรากฏการณ์เช่นนี้ เป็นประเด็นทำนองเดียวกันกับทฤษฎีสมคบคิดธรรมดานั่นเอง
เวลาพูดถึงทฤษฎีสมคบคิด เรามักจะคิดไปไกลว่า มันจะต้องเกิดขึ้นจากมีคนร่วมมือกันหลายคน แต่ข้อเท็จจริงก็คือ มันเกิดจากการสร้างชุดความคิดที่กลับเหตุเป็นผล ผลเป็นเหตุเป็นสำคัญ และทำให้ผู้รับข้อมูลข่าวสารคิดตามไม่ทัน เพราะมีความรู้พื้นฐานที่เบี่ยงเบนจากมาตรฐานทางปัญญา
          กรรมวิธีการใช้ทฤษฎีสมคบคิด เกี่ยวข้องกับการสร้างหลักฐาน สร้างเหตุผล สร้างพยาน ทั้งด้านเอกสาร ด้านบุคคล ด้านสถานที่ จากนั้นก็นำมาผสมผสานกับจินตนาการของตน แล้วร้อยเรียงผูกเรื่องราวและเหตุผลหลักฐานต่างๆ  เข้าด้วยกัน ให้สอดคล้องสมเหตุสมผลให้น่าเชื่อถือมากที่สุด ใช้ระยะเวลาและกระบวนการในการปล่อยข่าว การลือ การโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อล้างสมอง จนถึงเวลาที่เหมาะสม


สิ่งที่พึงพิจารณาก็คือ ทฤษฎีสมคบคิดนั้นล้วนไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นอิสระ แต่มีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นอื่นๆ เพื่อให้ประโยชน์/ให้โทษต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งใด หรืออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
            การใช้เหตุผลแบบกลับหัวเป็นเท้าของทฤษฎีสมคบคิด มีเป้าหมายหวังว่าผู้ที่รับข่าวสาร หรือรับรู้เรื่องราวนั้น จะใช้ข้อมูลที่ได้รับเป็นปัจจัยในการตัดสินใจที่จะดำเนินกิจกรรมทั้งด้าน ส่วนตัว ด้านสังคม องค์กรต่างๆ  รวมถึงการกำหนดทิศทางนโยบายของประเทศ และทิศทางของโลก มาเข้าทางหรือเข้าสู่แนวทางที่พวกเขาต้องการ เพื่อผลประโยชน์ในการหักล้างความน่าเชื่อถือของทฤษฎีเดิมหรือความเชื่อทาง จารีต  ค่าโง่ที่ผู้รับข่าวสารจ่ายให้กับผู้สร้างทฤษฎีสมคบคิด จึงเป็นค่าโง่ที่ไม่อาจจะโทษใครเขาอื่นได้ ต้องโทษตัวเราเองที่เชื่อเขา ไม่ตรวจสอบ ไม่ศึกษาปรึกษาพิจารณาให้ถ้วนถี่ ไร้เดียงสากับคนบางกลุ่มมากเกินขนาด
            ทฤษฎีสมคบคิดนั้น ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสีย ข้อดีก็มีอยู่บ้าง เพราะผลลัพธ์ของขบวนการที่ใช้ทฤษฎีสมคบคิดกันมากมาย ทำให้คนเราสามารถแบ่งแยกผู้คนบนโลกออกเป็นสองฝ่ายในด้านของข้อมูลข่าวสาร ฝ่ายแรกเชื่อว่าเป็นจริง อีกฝ่ายไม่เชื่อ นั่นไม่ใช่ความจริง
ถ้านักลงทุนทั้งหลาย เข้าใจคำพูดของวอร์เรน บัฟเฟตต์ที่ว่า ในตลาดหุ้นนั้นมีพฤติกรรมประหลาดกว่าตลาดอื่น เพราะคนรวย (นักลงทุนทั้งหลาย) พากันไปอ้อนวอนหรือเชื่อถือยาจก (นักวิเคราะห์) ด้วยมายาคติว่า พวกยาจกจะทำให้เขารวยขึ้นกว่าเดิม นักลงทุนก็จะเข้าใจดีว่า บนข้ออ้างในเรื่องความเที่ยงธรรมของนักวิเคราะห์นั้น ได้มีทางออกหรือข้อป้องกันให้กับพวกเขาเองเอาไว้ล่วงหน้าเสมอ


ปัญหาเรื่องทฤษฎีสมคบคิดของนักวิเคราะห์ที่ไม่น่าเชื่อถือก็จะไม่เกิดขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นกรณีการทุบหุ้น BANPU และเครือ PTT ทั้งหมดอย่างไร้ความน่าเชื่อถือ
หรือแม้กระทั่งเรื่องวิวาทะเกี่ยวกับการสอบสวนคดีเมลสื่อรับเงินพรรคการ เมืองที่ตาลปัตรกลายเป็นกระบวนการป้ายสีพวกที่ตนไม่ชอบในนามของคุณธรรมทุศีล ที่กำลังอื้อฉาวในวงการสื่อยามนี้
 เครดิตกันอีกที หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น 29 สิงหาคม 2554 :พลวัตปี 2011 นักวิเคราะห์สมคบคิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น